8 ปัจจัยเสี่ยง “หลอดเลือดหัวใจตีบ”

8 ปัจจัยเสี่ยง “หลอดเลือดหัวใจตีบ” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

 

โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เป็นโรคอันตรายทีหลายคนกลัวไม่แพ้โรคมะเร็ง เพราะหัวใจเป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ เป็นส่วนที่คอยสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย และเมื่อหัวใจทำงานขัดข้อง หรือหยุดทำงาน ร่างกายของเราก็จะรวน และหยุดทำงานตามไปด้วยอย่างรวดเร็ว ชนิดที่ไม่มีเวลาให้ได้เตรียมตัวอะไรทั้งสิ้น


โรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจมีมากมาย นอกจากหัวใจวายที่หลายคนอาจรู้จักกันเป็นอย่างดีแล้ว ยังมีโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรงอย่าง “หลอดเลือดหัวใจ” รวมอยู่ด้วย และหลายคนกำลังมีความเสี่ยงต่อโรคนี้โดยที่คุณก็ไม่รู้ตัว

 

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีสาเหตุจากอะไร?

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หมายถึง อาการที่หลอดเลือดหัวใจ ที่มีหน้าที่ลำเลียงโลหิตไปสูบฉีดเพื่อหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย มีลักษณะที่ตีบแคบลง เนื่องมาจากมีไขมัน ที่เรียกว่า “พลาค” (Plaque) ไปอุดกั้นหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลผ่านไม่สะดวก และเมื่อพลาคมาเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดอักเสบ เกล็ดเลือดจะจับตัวเป็นก้อนที่บริเวณผนังหลอดเลือด เพื่อซ่อมแซมในส่วนที่อักเสบ ซึ่งทำให้หลอดเลือดยิ่งแคบ ยิ่งอุดตันมากกว่าเดิม

หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อส่งเลือดให้ผ่านช่องแคบๆ ของหลอดเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ได้ จนในที่สุดอาจส่งผลให้หัวใจทำงานหนักเกินไป และเนื่องจากหัวใจก็ขาดเลือดมาหล่อเลี้ยงด้วยเช่นกัน จึงทำให้เสี่ยงโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จนเป็นเหตุให้หัวใจทำงานเฉียบพลัน จนเสียชีวิตกะทันหันได้เช่นกัน

อ่านต่อ >> ทำไมใครๆ ก็เป็นโรค "หลอดเลือดหัวใจตีบตัน"

 

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มีอาการอย่างไร?


หากเริ่มมีไขมันเกาะผนังหลอดเลือดเล็กน้อย อาจจะยังไม่มีอาการอะไรแสดงออกให้เรารู้ตัว แต่หากหลอดเลือดตีบมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ป่วยจะเริ่มเหนื่อยง่าย หัวใจเต้นเร็ว แขนขาบวม เมื่อต้องออกแรงมากขึ้น หรือออกกำลังกาย หากอาการหนักขึ้นอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเมื่อต้องใช้แรงมากขึ้น หรือมีความเครียด อาการเจ็บอาจลามไปถึงขากรรไกร ไหล่ และแขนข้างซ้าย


ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


1. มีไขมันในเลือดสูง


2. มีความดันโลหิตสูง


3. เป็นโรคเบาหวาน


4. สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์


5. เป็นโรคอ้วน หรือมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน


6. ทานอาหารประเภทไขมัน (ที่ไม่ดี) และคาร์โบไฮเดรต มากเกินไป


7. ทานอาหารรสเค็มมากเกินไป


8. พันธุกรรมจากครอบครัว ที่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน


โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ป้องกันได้อย่างไร?


แม้ว่าจะเป็นโรคที่น่ากลัว แต่มีวิธีป้องกันทำได้ง่ายๆ เพียงทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เน้นผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมันมากจนเกินไป ลดการบริโภคไขมันที่ไม่ดี และคาร์โบไฮเดรตมากเกินความจำเป็น รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็ลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้ง่ายๆ แล้วค่ะ


ขอขอบคุณ

ข้อมูล : หาหมอ