แผลในกระเพาะอาหาร

อาการปวดท้อง คืออาการที่เกิดขึ้นได้ในทุกคน และคาดว่าทุกคนก็ต้องเคยปวดท้องเช่นกัน แต่รู้หรือไม่ว่า ในการปวดท้องแต่ละครั้งมีสาเหตุและต้นตอที่แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคืออาการปวดท้องที่เกิดจากการเป็น “แผลในกระเพาะอาหาร” หรือ โรคกระเพาะ (PUD: Peptic Ulcer Disease) คือ แผลที่เกิดจากการหลั่งออกมาทำลายเยื่อบุของกรดและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน

 

สาเหตุในการเกิดโรคแผลในกระเพาะอาหาร

·      การรับประทานอาหารที่ส่งผลกระทบต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม รวมไปถึงกลุ่มยา NSAID อย่างแอสไพรินหรือยารักษาโรคกระดูกและข้ออักเสบ

·      พฤติกรรมการทานอาหาร เช่น ทานไม่เป็นเวลา ทานแบบเร่งรีบ และทานอาหารรสจัด

·      การสูบบุหรี่ จะเพิ่มโอกาสในการเกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น

·      พฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น เครียด นอนไม่หลับ และพักผ่อนไม่เพียงพอการติดเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Pylori) คือเชื้อโรคที่เกิดจากการทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ติดเชื้อ

 

อาการและข้อสังเกตของโรคแผลในกระเพาะอาหาร

·      ขณะที่ท้องว่าง จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งระหว่างหน้าอกและสะดือ อาจมีอาการปวดไม่กี่นาทีหรือปวดนานถึงชั่วโมง

·      รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน

·      อุจจาระเป็นสีดำคล้ำหรือมีเลือดปน

·      เบื่ออาหาร

 

การรักษาและตรวจวินิจฉัย

การตรวจด้วยวิธีการส่องกล้อง เป็นวิธีที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมที่สุด เพราะการตรวจแบบส่องกล้องจะช่วยให้เห็นรายละเอียดของกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้การวินิจฉัยและยืนยันตำแหน่งของแผลได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคือการตรวจแบบส่องกล้องสามารถตรวจหาเชื้อเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Pylori) ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้ง่ายและยังส่งผลให้แผลหายช้าได้อีกด้วย

 

        แผลในกระเพาะอาหาร” คืออาการภายในที่แม้แผลหายแล้ว แต่ก็สามารถเกิดซ้ำได้อีก ดังนั้น หากมีอาการเสี่ยงหรือสงสัยว่าเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการรักษาต่อไป

 

บทความโดย

นพ.วชิรพงศ์ เอกไพบูลย์  แพทย์ผู้ชำนาญการด้านอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ 

ศูนย์โรคทางเดินอาหารและเอ็นโดสโคป ชั้น  3 

โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล ถนนแจ้งวัฒนะ (WMC)

โทร 02-836-9999 ต่อ 3821-2

 

ขอขอบคุณแหล่งที่มา

https://theworldmedicalcenter.com